พ.ร.บ. คุ้มครองอะไรบ้าง



 

ประกันรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)

พรบ. คือ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ที่กฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องมี เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
อันเนื่องมาจากการใช้รถ ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงที โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินใดๆ หรือจำง่ายๆ ว่า พรบ.ซ่อมคนไม่ซ่อมรถนั่นเองครับ

ในส่วนของความคุ้มครองนั้นจะมีด้วยกัน 2 ส่วนครับ
ส่วนที่ 1 ค่าเสียหายเบื้องต้น 
คือ ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายจำเป็น เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ค่าปลงศพโดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด
และไม่ต้องรอคดีสิ้นสุดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ประสบภัยจากรถ โดยมีวงเงินคุ้มครอง ดังนี้ครับ

1. กรณีบาดเจ็บ จะได้รับค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงรายละไม่เกิน 30,000 บาท
2. กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ จะได้รับค่าชดเชยรายละ 35,000 บาท
3. กรณีเสียชีวิต จะได้รับค่าปลงศพรายละ 35,000 บาท
4. กรณีได้รับบาดเจ็บและต่อมาเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง
ค่าชดเชยและค่าปลงศพรวมกันไม่เกินรายละ 65,000 บาท

ส่วนที่ 2 ค่าสินไหมทดแทน (กรณีที่เป็นฝ่ายถูก และมีคู่กรณีที่ทำ พร.บ.)
ในกรณีที่ผู้ประสบภัยพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายถูก จะสามารถเบิกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมได้ดังต่อไปนี้ดังนี้ครับ

1. ค่ารักษาพยาบาล (จ่ายตามจริง) สูงสุดคนละ 80,000 บาท
2. กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จะได้รับค่าสินไหมคนละ 500,000 บาท
3. กรณีสูญเสียอวัยวะ จะได้รับค่าสินไหมคนละ 200,000 - 500,000 บาท ตามเงื่อนไขกรมธรรม์
4. กรณีนอนรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท (ไม่เกิน 20 วัน)


แต่ถ้ารถคันไหนไม่มี พ.ร.บ. ก็จะมีโทษของการฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยด้วยนะครับ

1. เจ้าของรถ จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2. ผู้ใช้รถ จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
3. หากเป็นทั้งเจ้าของรถและผู้ใช้รถ ก็จะมีโทษปรับทั้งสองกระทงตามความคิดจะปรับอยู่ที่ 20,000 บาทนั้นเองครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับความคุ้มครองของพรบ. ที่เอ็มดีฯ นำมาฝากทุกท่านจะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ
ที่เสียไปกับการไม่ทำ พ.ร.บ. นั้นค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการทำ พ.ร.บ. รถยนต์ให้ถูกต้องครับ