การประกันอัคคีภัยสำหรับภาคธุรกิจ

  การประกันอัคคีภัยสำหรับสถานประกอบธุรกิจ ให้ความคุ้มครองอาคารและสิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมฐานราก) ที่ใช้ประกอบกิจการต่างๆ เช่น สำนักงาน ร้านค้า โรงภาพยนตร์ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โกดังหรือโรงงา นอุตสาหกรรม เป็นต้น ตลอดจนทรัพย์สินใดๆ ที่เอาประกันภัยไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งติดตั้งตรึงตรา อุปกรณ์สำนักงาน ของใช้และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ สต็อกสินค้า เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้า ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในอาคารนั้น เป็นต้น

กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับ สถานประกอบธุรกิจจะให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจาก

1. ไฟไหม้ แต่ไม่รวมถึงการระเบิดอันเป็นผลมาจากไฟไหม้ (เว้นแต่แรงระเบิดของแก๊สใช้สำหรับ ทำแสงสว่างหรือ ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย) ความเสียหายโดยตรงหรือโดยอ้อมจากแผ่นดินไหว
ความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ เอาประกันภัยที่เกิดจากการบูดเน่า การระอุตามธรรมชาติ หรือการลุกไหม้ขึ้นเอง และในระหว่างกรรมวิธีใดๆ ซึ่งใช้ความร้อนหรือการทำให้แห้ง
2. ฟ้าผ่า
3. การระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่างหรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น ยกเว้นการระเบิดของแก๊สเนื่องจากภัยแผ่นดินไหว นอกจากนี้ ผู้เอาประกันภัยยังสามารถขอซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม สำหรับความเสียหายจากภัยอื่นๆ ได้
เช่น ภัยแผ่นดินไหว ภัยน้ำท่วม ภัยจากลูกเห็บ ภัยนัดหยุดงาน การจลาจลและการกระทำอันมีเจตนาร้าย ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า เป็นต้น

ความคุ้มครองพิเศษที่สามารถซื้อเพิ่มเติมได้
ลมพายุ ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยระอุ ภัยจากควัน ภัยลูกเห็บ ภัยทางอากาศ ภัยน้ำท่วม ภัยเนื่องจากน้ำ แผ่นดินไหว ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า ภัยระเบิดภัยจลาจลและนัดหยุดงาน ภัยเนื่องจากการกระทำป่าเถื่อนและเจตนาร้าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกันภัย

   ซึ่งการทำประกันอัคคีภัยสำหรับสถานประกอบธุรกิจ จะมีการประกันภัยอีกประเภทที่นิยมทำคือ การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์
ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการประกันอัคคีภัย แต่ให้ความคุ้มครองที่กว้างกว่าการประกันอัคคีภัยโดยให้ความคุ้มครองความเสียหายเช่นเดียวกับการประกันอัคคีภัยและรวมถึงความเสียหายอันเป็นผลมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันจากปัจจัยภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัย มิได้เจตนาหรือมุ่งหวัง

   ข้อตกลงคุ้มครองของการประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินเป็นการกำหนดแบบสรรพภัย คือ กรมธรรม์ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งมิได้ถูกระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย จึงอาจเห็นว่ามีการเขียนข้อยกเว้นไว้มากกว่าในการประกันภัยอื่น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าสิ่งใดจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย