ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ( พ.ร.บ. )

1. การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Third Party Insurance)

    หมายถึง การประกันภัยรถยนต์ที่กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถทุกคันมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันภัย ตามความคุ้มครองที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ คือ การประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือที่เรียกว่า “การประกันภัย พ.ร.บ.” (เว้นแต่ รถที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ระบุยกเว้นไว้ เช่น รถของสำนักพระราชวัง รถสำหรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ รถของกระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น) ทั้งนี้ หากเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถไม่ทำประกันภัยตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนด จะมีโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (ปรับไม่เกิน 10,000 บาท)

     การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถทุกคน เมื่อประสบภัยจากรถที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุกติดตั้งมากับรถ ส่งผลให้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ได้รับการชดใช้และเยียวยาความสูญเสียหรือเสียหายที่เกิดขึ้น

ความคุ้มครองผู้ประสบภัย

    บริษัทประกันวินาศภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัยในนามผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย เนื่องจากรถที่ใช้หรืออยู่ในทาง หรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถนั้น ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ดังนี้


 

ค่าเสียหายเบื้องต้น
    บริษัทประกันวินาศภัยจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น (เป็นวงเงินเดียวกันกับความคุ้มครองข้างต้น) ให้แก่ผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิดให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่บริษัทได้รับการร้องขอ โดยจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  1. กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกาย บริษัทจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามจำนวนที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อหนึ่งคน
  2. กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกายอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาทต่อหนึ่งคน
    • (ก) ตาบอด
    • (ข) หูหนวก
    • (ค) เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด
    • (ง) สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์
    • (จ) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว
    • (ฉ) เสียอวัยวะอื่นใด
    • (ช) จิตพิการอย่างติดตัว
    • (ซ) ทุพพลภาพอย่างถาวร
  3. กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อชีวิต บริษัทจะจ่ายค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพของผู้ประสบภัยตามจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาทต่อหนึ่งคน
  4. จำนวนตามข้อ 1. และ 2. รวมกัน หรือจำนวนข้อ 1. และ 3. รวมกัน แต่หากผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายตามข้อ 1. 2. และ 3. หรือได้รับความเสียหายตามข้อ 2. และ 3. ให้ได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นรวมกันไม่เกินจำนวน 65,000 บาท

หมายเหตุ
       ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่รถที่เป็นฝ่ายผิด หรือไม่มีคู่กรณี จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น


ค่าเสียหายเบื้องต้น
กรณีรถตั้งแต่ 2 คัน ขึ้นไปก่อให้เกิดความเสียหาย กรณีรถตั้งแต่ 2 คันขึ้นไปก่อให้เกิดความเสียหาย(เฉี่ยวชนกัน) เป็นเหตุให้ผู้ซึ่งอยู่ในรถไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารก็ตาม หากได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้บริษัทที่รับประกันภัยรถแต่ละคันจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถคันที่บริษัทรับประกันภัยไว้ แต่ถ้าผู้ประสบภัยเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้อยู่ในรถคันใดคันหนึ่ง ให้บริษัทร่วมกันจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยโดยเฉลี่ยจ่ายในอัตราส่วนที่เท่ากัน

การใช้สิทธิขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น
ผู้ประสบภัยต้องร้องขอค่าเสียหายเบื้องต้น กับบริษัทภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น โดยใช้หลักฐาน ดังนี้

กรณีบาดเจ็บ
1.1 ใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล หรือหลักฐานการแจ้งหนี้เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
1.2 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให ้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย ในกรณีผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บต่อมาทุพพลภาพ นอกจากต้องยื่นหลักฐานตาม ข้อ 1.1 และ 1.2 แล้ว ให้ยื่นใบรับรองแพทย์ หรือความเห็นแพทย์ หรือหลักฐานอื่นใดที่ระบุว่าเป็นผู้ประสบภัยซึ่งทุพพลภาพ พร้อมทั้งสำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถเพิ่มเติมด้วย

กรณีเสียชีวิต
2.1 สำเนามรณบัตร
2.2 สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน
2.3 สำเนาบัตรประจำตัว หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย

ค่าสินไหมทดแทน(ส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น)
บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัยในนามผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย เนื่องจากรถที่ใช้หรืออยู่ในทาง หรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุกหรือติดตั้งในรถนั้น ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ดังนี้
1. ในกรณีที่ผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ถึงกับสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายอย่างอื่นที่ผู้ประสบภัย สามารถเรียกร้องได้ตามมูลละเมิดตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกิน 80,000 บาท ต่อหนึ่งคน
2. กรณีได้รับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยในกรณีใดกรณีหนึ่งหรือหลายกรณี ดังต่อไปนี้ บริษัทจะจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน
(ก) ตาบอด
(ข) หูหนวก
(ค) เป็นใบ้หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด
(ง) สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์
(จ) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว
(ฉ) เสียอวัยวะอื่นใด
(ช) จิตพิการอย่างติดตัว
(ซ) ทุพพลภาพอย่างถาวร

3. กรณีเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน
4. ในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ใน บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท จำนวนรวมกันไม่เกิน 20 วัน เป็นค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากความคุ้มครองที่กล่าวมาแล้วนั้น

การสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทน ค่าชดเชยรายวัน และค่าปลงศพ ในกรณีรถที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัทประสบอุบัติเหตุชนกับรถอื่น ซึ่งมีการประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ บริษัทจะสำรองจ่าย ให้แก่ผู้ประสบภัย ซึ่งโดยสารมาในรถ หรือกำลังขึ้น หรือกำลังลงจากรถที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัท ดังนี้

ค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จรับเงิน ไม่เกิน 80,000 บาท ต่อหนึ่งคน สำหรับกรณีได้รับบาดเจ็บ
ค่าทดแทน หรือค่าปลงศพ เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน สำหรับกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร
ค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทน หรือค่าปลงศพ รวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน

สำหรับ ผู้ประสบภัยที่เป็นบุคคลภายนอกรถ บริษัทและผู้รับประกันภัยอื่นจะร่วมกันสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนหรือค่าปลงศพ โดยเฉลี่ยฝ่ายละเท่าๆ กัน

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสำหรับจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย กรณีดังต่อไปนี้
1. รถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประสบภัยมิได้จัดทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และเจ้าของรถไม่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น(กรณีบาดเจ็บเท่าที่รักษาจริงจะไม่เกิน 30,000 บาท หากเสียชีวิต 35,000 บาท )
2. รถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายมิได้อยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถในขณะเกิดเหตุ เพราะถูกยักยอก ฉ้อโกง กรรโชก ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ และได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้ว
3. รถนั้นไม่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของรถและมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดไว้
4. รถนั้นมีผู้ขับหลบหนีไปหรือไม่อาจทราบได้ว่าความเสียหายเกิดจากรถคันใด
5. บริษัทไม่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยหรือจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไม่ครบจำนวน
6. รถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นรถที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย

กรณีรถไม่ทำประกันภัยไปก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ประสบภัย กฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถมีหน้าที่ต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เมื่อเจ้าของรถฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยแล้วรถคันดังกล่าวไปก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ประสบภัย เจ้าของรถจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น ถ้าผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บเจ้าของรถต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือถ้าเสียชีวิตต้องรับผิดชอบค่าปลงศพ อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้(กรณีบาดเจ็บเท่าที่รักษาจริงจะไม่เกิน 30,000 บาท หากเสียชีวิต 35,000 บาท ) หากน้อยกว่านี้ผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยยังคงมาขอรับส่วนที่ยังขาดอยู่ได้จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เมื่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจ่ายไปแล้ว กฎหมายกำหนดให้นายทะเบียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่เรียกเงินตามจำนวนที่ได้จ่ายไปคืนจากเจ้าของรถรวมทั้งเงินเพิ่มในอัตราร้อยละยี่สิบของจำนวนค่าเสียหายเบื้องต้นที่จ่ายจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเพื่อเข้าสมทบอีกต่างหากภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากนายทะเบียน

ระยะเวลาการใช้สิทธิขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นตามพระราชบัญญัตินี้ กฎหมายกำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น ให้ผู้ประสบภัยต้องร้องขอภายใน 180 วันนับแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น